วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

Learning log : Sixth (15th September, 2015)


Learning log : Sixth
15th September, 2015

การศึกษา หมายถึง กระบวนการส่งเสริมให้บุคคลเจริญเติบโตและมีความเจริญงอกงามทางกาย  อารมณ์ สังคม และสติปัญญาจนเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณธรรมสูง ส่วนการเรียนรู้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อันเนื่องมาจากได้รับประสบการณ์ คือ  การที่บุคคลใช้ประสาทสัมผัสปะทะกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  สิ่งแวดล้อมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมทางขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่บุคคลปะทะแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการสอน คือ กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความคิดที่จะนำความรู้ไปใช้ ให้เกิดทักษะหรือความชำนาญที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น    การสอนจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญงอกงาม ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นมาก โดยมีความสัมพันธ์กัน คือ ในการศึกษานั้นจะต้องมีผู้สอนโดยได้ทำการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันตอนนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่ในหลายด้าน ดังนั้น จึงควรมีการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาของประเทศในทุกระบบ โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทยที่ยังคงมีปัญหาอยู่มาก ทั้งด้านการบริหาร ด้านบุคลากร และรูปแบบการจัดการศึกษา เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และเพื่อให้ประเทศไทยมีคุณภาพเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆในประชาคมอาเซียนได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อทำให้คนไทยมีคุณภาพที่ดีขึ้น

ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังประสบปัญหาอยู่หลายด้าน ทั้งด้านระบบบริหาร เพราะมีการเปลี่ยนผู้บริหารการศึกษาบ่อย บางคนไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจเท่าที่ควรในการบริหารงาน เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยทำให้มีการเปลี่ยนนโยบายบ่อยด้วย ส่งผลให้ระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพ นำไปสู่ความไม่มั่นคงและความไม่เสถียรภาพในระบบการศึกษา ปัญหาด้านการวัดและประเมินผล ในการศึกษา จำเป็นต้องมีการวัดและประเมินผลอยู่บ่อยๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะในด้านความรู้ ที่มีทั้งการวัดและประเมินผลก่อนเรียน ในขณะที่เรียน และหลังเรียน ทั้งยังมีการสอบวัดความรู้ในระดับประเทศ ซึ่งบางครั้งการทดสอบในระดับประเทศนั้น ยังคงมีปัญหาอยู่มากมาย นั่นคือ แบบทดสอบยังไม่มีความเที่ยงตรง คำถามมีความหมายกำกวม เป็นแบบทดสอบที่ไม่ได้วัดความรู้ในเนื้อหาที่ได้เรียนมาจริงๆ นั่นคือ การวัดผลและประเมินผลที่ไม่ตรงกับเนื้อหาสาระที่สอน ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถทำแบบทดสอบได้ ทำให้ได้ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ต่ำ รวมไปถึงด้านคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าผู้เรียน ยังไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ส่วนใหญ่มักจะมีความรู้ความเข้าใจเพียงภาคทฤษฎี แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำความรู้เหล่านั้นออกมาใช้ในการทำงานจริงๆ จึงไม่สามารถทำได้ บางครั้งเกิดปัญหาในการทำงานก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กล่าวคือ คุณภาพของผู้เรียนในขณะนี้ อยู่ในขั้นวิกฤต คือ คิดก็ไม่เป็น ทำก็ไม่เป็น และยังไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ประเทศของเราก็กำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วนั้น เราจึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ทั้งคุณภาพของผู้เรียน และคุณภาพของครู เพื่อรับมือกับอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้
การจะปรับปรุงคุณภาพของผู้เรียนให้มีคุณภาพได้นั้น ต้องเริ่มจากการปรับปรุงครูผู้สอนก่อน เพราะครูผู้สอน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน เป็นที่ปรึกษา และผู้ถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน หากครูผู้สอนไม่มีคุณภาพ ก็จะทำให้ผู้เรียนไม่มีคุณภาพไปด้วย ดังนั้น จึงต้องเริ่มมีการสร้างแบบอย่างครูที่ดีในยุคอาเซียน ซึ่งการจะเป็นครูที่ดีในยุคอาเซียน ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการสอน นั่นคือ ครูต้องเน้นกระบวนการสอนให้มาก ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ผู้เรียนจะสามารถแสวงหาความรู้ได้เองก็ตาม แต่ครูผู้สอนก็ยังคงเป็นตัวหลักสำคัญในการสอนและการเรียนรู้ เพราะครูผู้สอนถือเป็นผู้อบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนที่ดีขึ้นได้ และครูไม่ควรมีภาระงานอื่นที่มากจนเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูควรมีความทันสมัยและรู้จักแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  นั่นคือ ครูต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาที่ตนสอนอย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง และแม่นยำ ไม่ว่านักเรียนจะสงสัยในเรื่องใดที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ตนสอน ต้องสามารถตอบได้ทันท่วงที  ยิ่งไปกว่านั้นครูต้องไม่เพียงแต่มีความรู้ในด้านของเนื้อหาที่ตนสอนเท่านั้น แต่ควรมีความรู้รอบตัวด้วย เพราะทุกวันนี้โลกมีความเจริญก้าวหน้าไปทุกวัน สิ่งต่างๆมีการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากในการดำเนินชีวิตและการเรียนการสอน ครูจึงควรพร้อมที่จะเรียนรู้และพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนทั้งสิ้น และนอกจากนี้ ครูควรมีกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการอีกด้วย
การสอนมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบการสอนที่จะยกมานี้ คือ การสอนแบบ Inductive เปรียบเทียบได้กับการสอนแบบอุปนัยนั่นเอง กล่าวคือ เป็นการสอนโดยการยกตัวอย่างมาก่อน ให้ผู้เรียนทำความเข้าใจจากตัวอย่าง ให้ผู้เรียนได้ลองสังเกตและทำความเข้าใจ แล้วจึงสรุปองค์ความรู้จากตัวอย่างนั้นๆด้วยตนเอง ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม แล้วผู้สอนจึงมาสอนเนื้อหาและสรุปองค์ความรู้ที่ถูกต้องในตอนท้ายอีกครั้ง ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้เป็นวิธีการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิด ให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และยังมีรูปแบบการสอนอีกแบบหนึ่ง คือ การสอนแบบ Deductive เปรียบเทียบได้กับการสอนแบบนิรนัยนั่นเอง กล่าวคือ เป็นการสอนที่ผู้สอน สอนเกี่ยวกับเนื้อหา ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนเลยในตอนแรก แล้วจึงมายกตัวอย่างประกอบเพื่อเสริมให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งการสอนแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนมีบทบาทเป็นเพียงผู้รับความรู้เท่านั้น ไม่ได้คิดด้วยตนเอง ซึ่งสำหรับรูปแบบการสอนที่ควรใช้ในยุคที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนี้ ควรใช้การสอนแบบ Inductive หรืออุปนัย เพราะการสอนแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถจำเนื้อหาได้ดี เพราะถือว่าตนเองได้มีส่วนรวมในการเรียนด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สอนควรมีเทคนิคต่างๆให้ผู้เรียนสามารถจำเนื้อหาต่างๆได้ง่ายขึ้น เพราะเนื้อหาในการเรียนมีมากมายหลายวิชา ซึ่งเป็นการยากที่ผู้เรียนจะจำได้หมด มักต้องมีการบูรณาการกับสิ่งรอบตัว หรือใช้เทคนิคในการจำด้วย เช่น เทคนิคการจำคำศัพท์ การเดาความหมายของคำศัพท์ต่างๆ โดยการจำความหมายของคำว่า รูปแบบการสอนแบบ Inductive ซึ่งอ่านว่า อินดักทีฟ ซึ่งมีความหมายว่าการสอนแบบอุปนัย โดยจำว่า อิน=อุป เมื่อผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน และสามารถจำสิ่งต่างๆที่เรียนได้แล้ว จะทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน ทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                การจะแก้ปัญหาต่างๆในสังคมนั้น เราควรมองให้ลึกลงไปที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ เพราะการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนั้น จะไม่สามารถทำให้ปัญหานั้นๆ หมดไปได้ เพียงแต่ปัญหาเหล่านั้นอาจจะหายไปเพียงชั่วขณะเท่านั้น ดังนั้น การจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่คาราคาซังอยู่ เพื่อการรับมือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ควรเริ่มจากการแก้ปัญหาที่ระบบการบริหารงาน เริ่มจากทำให้ผู้บริหารและนโยบายดีขึ้น เป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ แล้วจึงไล่ลงมาแก้ปัญหาที่ส่วนอื่นๆต่อ คือ การวัดและประเมินผลการศึกษาที่เที่ยงตรง และมีคุณภาพจริงๆ โดยการวัดในสิ่งที่ตรงกับเนื้อหาสาระ และรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง นั่นคือ เป็นผู้ที่มีความรู้ที่ลึกซึ้ง มีความพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ มีความทันสมัยก้าวทันเทคโนโลยี และการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจจริงๆ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน ไม่ใช่เพียงรับเนื้อหามาจากครูผู้สอนเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจทำให้ลืมได้ ซึ่งนั่นถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ยั่งยืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาต่างๆจะไม่มีวันหมดไป หากทุกคนในสังคมไม่ร่วมมือ ร่วมใจกันช่วยกันขจัดปัญหาเหล่านี้ เมื่อสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้วนั้น ก็จะทำให้ผู้คนในสังคมมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับกันในประชาคมอาเซียน ทำให้คนไทยสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้มากขึ้น และประเทศมีความเจริญและสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น