วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

โครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา เราพูดเป็นประโยคที่มีใจความสมบูรณ์และสื่อสารกันรู้เรื่องเพราะเรารู้หรือเข้าใจโครงสร้างของภาษา โครงสร้างเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเราจะนำคำศัพท์ที่เรารู้มาประกอบกันหรือเรียงกันอย่างไรจึงจะเป็นที่เข้าใจของผู้ที่เราสื่อสารด้วย  ในการใช้ภาษาใดก็ตาม ถ้าเราไม่รู้หรือเข้าใจโครงสร้างของภาษานั้น เราจะล้มเหลวในการสื่อสาร คือฟังหรืออ่านไม่เข้าใจ และพูดหรือเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้
ในการแปลผู้แปลมักนึกถึงศัพท์ อันที่จริงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในการแปล ปัญหาที่สำคัญและลึกซึ้งกว่านั้นคือ ปัญหาทางโครงสร้าง นักแปลผู้ใดก็ตามที่ถึงแม้จะรู้ศัพท์แต่ละคำในประโยคแต่หากไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของศัพท์เหล่านั้นก็มีโอกาสล้มเหลวได้ เพราะอาจตีความผิดหรือถ่ายทอดเป็นภาษาเป้าหมายที่ผิดได้ ความต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มักก่อให้เกิดปัญหาเเก่นักแปล และชี้ให้เห็นว่านักแปลจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ดังนี้


1. ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
ชนิดของคำ (parts of speech) เป็นสิ่งสำคัญในโครงสร้าง เพราะเมื่อเราสร้างประโยคเราต้องนำคำมาเรียงร้อยกันให้เกิดความหมายที่ต้องการสื่อสาร ประโยคจะถูกไวยากรณ์เมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์ อย่างไรก็ตาม การคำนึงถึงชนิดของคำเท่านั้นยังไม่พอ ต้องคิดด้วยว่าเวลานำคำไปใช้จริงคำชนิดนั้นเกี่ยวพันกับประเภททางไวยากรณ์อะไรบ้างในภาษานั้นๆ
                ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category) หมายถึง ลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง  ซึ่งมักสัมพันธ์กับชนิดของคำ ประเภททางไวยากรณ์บางประเภทเป็นสิ่งสำคัญในภาษาหนึ่ง  แต่อาจไม่สำคัญเลยในอีกภาษาหนึ่งก็ได้ จะขอกล่าวถึงประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญสำหรับการเที่ยวภาษาไทยกับภาษาอังกฤษโดยจะเรียงลำดับตามชนิดของคำที่เกี่ยวข้อง
1. คำนาม เมื่อเปรียบเทียบคำนามในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ พบว่าประเภททางไวยากรณ์ที่เป็นลักษณะสำคัญหรือลักษณะที่มีตัวบ่งชี้ (marker) ในภาษาอังกฤษแต่เป็นลักษณะที่ไม่สำคัญหรือไม่มีตัวบ่งชี้ในภาษาไทย ได้แก่
1.1 บุรุษ  (person) บุรุษ เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกว่าคำนามหรือสรรพนามที่นำมาใช้ในประโยค หมายถึง ผู้พูด (บุรุษที่ 1) ผู้ที่ถูกพูดด้วย (บุรุษที่ 2) หรือผู้ที่ถูกพูดถึง (บุรุษที่ 3)
1.2 พจน์ (number) พจน์ เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกจำนวน ว่าเป็นจำนวนเพียงหนึ่ง หรือจำนวนมากกว่าหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในภาษาไทยตามปรกติไม่มีการบ่งชี้พจน์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากจะแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ผู้แปลจะต้องระบุคำนามในภาษาอังกฤษว่าเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์เสมอ
1.3 การก (case) การก คือประเภททางไวยากรณ์ของคำนามเพื่อบ่งชี้ว่าคำนามนั้นเล่นบทบาทอะไร คือสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยคอย่างไร ภาษาต่างกันมีการแสดงการกด้วยวิธีต่างกัน ในภาษาอังกฤษการกของคำนามมักแสดงโดยการเรียงคำ ในภาษาไทยไม่มีการเติมหน่วยท้ายคำเพื่อแสดงการก แต่ใช้การเรียงคำ เหมือนกับการกประธานและการกกรรมในภาษาอังกฤษ
1.4 นามนับได้ กับนามนับไม่ได้ (countable and uncountable nouns) คำนามในภาษาอังกฤษต่างจากภาษาไทยในเรื่องการแบ่งเป็นนามนับได้และนามนับไม่ได้  ในภาษาไทย คำนามทุกคำนับได้ เพราะเรามีลักษณนามบอกจำนวนของทุกสิ่งได้ แล้วเราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคำนามต่างๆ ในภาษาอังกฤษมีการใช้หน่วยบอกปริมาณหรือปริมาตรกับคำนามที่นับไม่ได้ทำให้เป็นหน่วยเหมือนนับได้ แต่ก็ไม่เป็นระบบทั่วไปเหมือนภาษาไทย
1.5 ความชี้เฉพาะ (definiteness) ประเภททางไวยากรณ์อีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญในภาษาอังกฤษ แต่ไม่สำคัญในภาษาไทย ได้เเก่การแยกความแตกต่างระหว่างนามชี้เฉพาะกับนามไม่ชี้เฉพาะ
 การแยกความแตกต่างระหว่างชี้เฉพาะกับไม่ชี้เฉพาะนี้ไม่มีในภาษาไทย จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจสำหรับคนไทย ดังนั้นเวลาคนไทยแปลไทยเป็นอังกฤษจึงต้องระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ ตรงกันข้าม เมื่อแปลอังกฤษเป็นไทยลักษณะความแตกต่างดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องแสดงในภาษาไทยเพราะถ้าแสดงจะทำให้ฟังดูรกรุงรังไม่เป็นธรรมชาติ
2. คำกริยา คำกริยานับได้ว่าเป็นหัวใจของประโยค การใช้กริยาซับซ้อนกว่าคำนาม เพราะมีประเภททางไวยากรณ์ต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประเภท ดังนี้
2.1 กาล (tense) คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องแสดงกาลเสมอว่าเป็นอดีต หรือไม่ใช่อดีต ผู้พูดภาษาอังกฤษไม่สามารถใช้คำกริยาโดยปราศจากการบ่งชี้กาล เพราะโลกทัศน์ของพวกเขาแยกความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับไม่ใช่อดีต  แต่สำหรับภาษาไทย ไม่ถือว่ากาลเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อแปลงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษคนไทยจึงต้องระวังเรื่องกาลเป็นพิเศษ
2.2 การณ์ลักษณะ (aspect) การณ์ลักษณะ หมายถึง ลักษณะของการกระทำหรือเหตุการณ์ ในภาษาอังกฤษการณ์ลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ การณ์ลักษณะต่อเนื่องหรือการณ์ลักษณะดำเนินอยู่ และการณ์ลักษณะเสร็จสิ้น การณ์ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่คนไทยเข้าใจได้ง่ายเพราะภาษาไทยมีการณ์ลักษณะทำนองนี้เหมือนกัน ในภาษาไทย เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องหรือกำลังดำเนินอยู่แสดงด้วยคำว่า กำลัง หรือ อยู่ หรือใช้ทั้งคู่
                โดยเหตุที่ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแตกต่างกันอย่างเด่นชัดในแง่ที่ภาษาอังกฤษถือว่าเรื่องเวลาของเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก ทุกประโยคที่พูดหรือเขียนจะต้องตัดสินหรือแสดงให้ชัดว่าเกิดเหตุในอดีต หรือปัจจุบัน หรืออนาคต และเหตุการณ์ใดเกิดก่อน หรือเกิดหลัง แต่ภาษาไทยถือว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่เป็นสิ่งสำคัญ ผู้อ่านสามารถตีความได้เองจากบริบท แม้นว่าจะไม่ตีความก็ไม่เป็นไร เพราะผู้พูดไม่เน้นเรื่องเวลาของเหตุการณ์ หรืออีกนัยหนึ่ง ในภาษาไทย การกล่าวหรือเล่าเรื่องใดก็ตาม เวลาเป็นเรื่องลอยตัว ไม่ต้องระบุให้ชัดแจ้ง
2.3 มาลา (mood) มาลา เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่ใช้กับคำกริยา มีหน้าที่แสดงว่าผู้พูดมีทัศนคติต่อเหตุการณ์ หรือเรื่องที่พูดอย่างไร มาลาในภาษาอังกฤษแสดงโดยการเปลี่ยนรูปคำกริยาหรือแสดงโดยใช้คำกริยาช่วย ที่เรียกว่า model auxiliaries  ในภาษาไทยมาลาแสดงโดยกริยาช่วยหรือคำวิเศษณ์เท่านั้น ไม่ได้แสดงโดยการเปลี่ยนรูปกริยาคำ
 ปัญหาที่เกี่ยวกับมาลาในการแปลภาษาอังกฤษเป็นไทยอาจพบน้อยกว่าแปลไทยเป็นอังกฤษ เพราะในภาษาอังกฤษมีรูปแบบหลากหลายกว่า บังคับใช้มากกว่า และความหมายก็ยากที่จะเข้าใจ
2.4 วาจก (voice) วาจก เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำที่แสดงโดยคำกริยา ว่าประธานเป็นผู้กระทำหรือประธานเป็นผู้ถูกกระทำ ในภาษาอังกฤษประโยคส่วนใหญ่จะมีกริยาเป็นกรรตุวาจก แต่ในบางกรณี กริยาจำเป็นต้องอยู่ในรูปกรรมวาจก เพราะผู้พูดอาจไม่ต้องการระบุผู้กระทำ แต่ต้องการเน้นผู้ถูกกระทำแทน ในภาษาไทยคำกริยาไม่มีการเปลี่ยนรูปในตัวของมันเองเพื่อแสดงกรรตุวาจกหรือกรรมวาจก ในการแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับไทยประโยคกรรมในภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องเท่ากับประโยคกรรมในภาษาไทยเสมอไป
2.5 กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite vs. non-finite) คำกริยาในภาษาอังกฤษต่างจากภาษาไทยมากในเรื่องการแยกกริยาแท้ออกจากกริยาไม่แท้ กล่าวคือในหนึ่งประโยคเดียวจะมีกริยาแท้ได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งมีรูปแบบที่เห็นชัดจากการที่ต้องลงเครื่องหมายเพื่อบ่งชี้ประเภททางไวยากรณ์ต่างๆ ส่วนกริยาอื่นๆในประโยคต้องแสดงรูปให้เห็นชัดว่าไม่ใช่กริยาแท้ ในภาษาไทย ไม่มีความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้  กล่าวคือกริยาทุกตัวในประโยคไม่มีการแสดงรูปที่ต่างกัน หรือเครื่องหมายที่เราจะระบุได้ทันทีว่าตัวไหนเป็นกริยาแท้หรือไม่แท้ ในการแปลจากอังกฤษเป็นไทย ผู้แปลอาจจำเป็นต้องขึ้นต้นประโยคใหม่ นั่นหมายความว่าทำกริยาไม่แท้ให้เป็นกริยาแท้ ของประโยคใหม่
3. ชนิดของคำประเภทอื่น
                ชนิดของคำประเภทอื่นนอกจากคำนามกับกิริยามีความซับซ้อนน้อยกว่านามและกริยา และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการแปลมากเท่ากับนามกับกริยา อย่างไรก็ตาม คำที่เป็นปัญหาในตัวศัพท์เอง ได้แก่ คำบุพบท (preposition) ซึ่งผู้แปลต้องหมั่นสังเกตบุพบทที่ใช้ต่างกันในสองภาษา คำ  adjective ในภาษาอังกฤษก็อาจเป็นปัญหาสำหรับคนไทยเพราะต้องใช้ verb to be เมื่อทำหน้าที่เป็นภาคแสดงของประโยค ในภาษาไทยไม่มีโครงสร้างแบบนี้เพราะใช้กริยาทั้งหมด นอกจากนั้น adjective ที่เรียงกันหลายคำเพื่อขยายคำนามที่เป็นคำหลัก เมื่อแปลเป็นไทยอาจมีปัญหา เพราะในภาษาไทยคำขยายอยู่หลังคำหลัก ตรงข้ามกับในภาษาอังกฤษ ทำให้เรียงคำขยายแบบภาษาอังกฤษไม่ได้ คำอีกประเภทที่ไม่ขนานกันระหว่างภาษาไทยกับอังกฤษ ได้แก่คำลงท้าย คำเหล่านี้มีความหมายละเอียดอ่อนและในภาษาอังกฤษไม่มีชนิดของคำประเภทนี้ เมื่อแปลไทย เป็นอังกฤษจะต้องใช้คำประเภทอื่นหรือรูปแบบอื่นแทน
                ที่กล่าวมาเป็นการแสดงให้เห็นว่าภาษาอังกฤษและภาษาไทยมีความแตกต่างกันเรื่องชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญหลายประการ ซึ่งถ้าผู้แปลมีความเข้าใจ จะช่วยให้การแปลทำได้ง่ายขึ้น


2. หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หน่วยสร้าง (construction) หมายถึง หน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง เช่น หน่วยสร้างนามวลี หน่วยสร้างกรรมวาจก หน่วยสร้างคุณานุประโยค เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบหน่วยสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบว่ามีหน่วยสร้างที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้แปลควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษดังนี้
2.1 หน่วยสร้างนามวลี : ตัวกำหนด(determiner) +นาม (อังกฤษ) vs. นาม (ไทย)
                นามวลีในภาษาอังกฤษต้องมีตัวกำหนดอยู่หน้านามเสมอ ถ้าคำนามนั้นเป็นนามนับได้และเป็นเอกพจน์(ยกเว้นนามที่เป็นชื่อเฉพาะและสรรพนาม) นอกจากนั้น ตัวกำหนดยังนำหน้านามเพื่อบ่งบอกความชี้เฉพาะของคำนาม ในภาษาไทยไม่มีตัวกำหนด ในภาษาอังกฤษ มีแต่คำบ่งชี้ เช่น นี้ นั้น โน้น นู้น ซึ่งบ่งบอกความหมายใกล้ไกล และเฉพาะเจาะจง และเราอาจเรียกคำเหล่านี้ว่า ตัวกำหนด (determiner) ก็ได้แต่ไม่เป็นส่วนที่บังคับในโครงสร้างเหมือนในภาษาอังกฤษ ดังนั้นเรามักพบเสมอว่าในขณะที่นามวลีในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดปรากฏแต่ในภาษาไทยไม่มี
2.2 หน่วยสร้างนามวลี : ส่วนขยาย + ส่วนหลัก(อังกฤษ)  vs.ส่วนหลัก+ส่วนขยาย (ไทย)
ในหน่วยสร้างนามวลี ภาษาอังกฤษวางส่วนขยายไว้ข้างหน้าส่วนหลัก ส่วนภาษาไทยตรงกันข้าม เวลาแปลจากอังกฤษเป็นไทย ถ้าส่วนขยายไม่ยาวเราเพียงแต่ย้ายที่ส่วนขยายจากหน้าไปหลังก็ใช้ได้ แต่หากส่วนขยายยาวหรือซับซ้อน ผู้แปลอาจแปลเป็น relative clause หรือขึ้นประโยคใหม่โดยเก็บใจความ
2.3 หน่วยสร้างกรรมวาจก (passive constructions)
ดังที่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างเรื่องวาจก(voice)ในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแล้ว ผู้แปลจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดหน่วยสร้างกรรมวาจกภาษาอังกฤษเป็นหน่วยสร้างกรรมวาจกภาษาไทยเสมอไป ในภาษาอังกฤษหน่วยสร้างกรรมวาจกมีรูปแบบเด่นชัด และมีแบบเดียว แต่ในภาษาไทยหน่วยสร้างกรรมวาจกมีหลายรูปแบบ เป็นที่น่าสังเกตว่ากริยาเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก จะมีรูปตรงกันข้ามในภาษาไทยและอังกฤษ กล่าวคือในภาษาไทยมักเป็นกรรตุวาจก ส่วนในภาษาอังกฤษเป็นกรรมวาจก
2.4 หน่วยสร้างประโยคเน้น subject (อังกฤษ) กับประโยคเน้น topic (ไทย)
                ภาษาไทยได้ชื่อว่าเป็นภาษาเน้น topic (topic-oriented language) ตรงข้ามกับภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาเน้น subject (subject-oriented language)
2.5 หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction)
หน่วยสร้างในภาษาไทยที่ไม่มีในภาษาอังกฤษและมักเป็นปัญหาในการแปล ได้แก่ หน่วยสร้างกริยาเรียง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่นกลางยกเว้นกรรมของกริยาที่มาข้างหน้า

ข้อสรุปท้ายสุด คือ หากผู้แปลตระหนักในความสำคัญของความแตกต่างทางโครงสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังแสดงมาข้างต้น ผู้แปลจะมีปัญหาในการแปลน้อยลง และผลงานที่แปลจะใกล้เคียงกับลักษณะภาษาแม่ในภาษาเป้าหมายมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น