วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log: สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ (วันที่ 29-30 ตุลาคม พ.ศ.2558)



Learning log
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2558
(ช่วงเช้า)
การอบรมในช่วงเช้าของวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2558 เริ่มต้นด้วยการฟังการเสวนาในหัวข้อ Beyond language learning โดย ดร.สุจินต์ หนูแก้ว อ.สุนทร บุญแก้ว และ ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นการเสวนาเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องเป็นมากกว่าการเรียนเพื่อการสื่อสาร ซึ่งดิฉันสามารถสรุปเนื้อหาการเสวนาได้ดังนี้
การเรียนในปัจจุบันนั้นจะต้องมากกว่าการเรียนภาษาเพื่อการสื่อสาร ผู้เรียนจะต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการหาความรู้ไปใช้ในด้านอื่นๆด้วย ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีทักษะดังต่อไปนี้ 3R  ได้แก่ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้)  (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น) และ 7C ได้แก่ Critical thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา) Creativity & innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม) Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์) Collaboration, teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ) Communications, information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) และ Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้) แต่ในปัจจุบันสิ่งที่ผู้เรียนยังมีปัญหามากที่สุด คือ Critical thinking skill ดังนั้นครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับทุก skill แต่ต้องเน้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์และตัดสินใจให้มากที่สุด โดยอาจเริ่มจากการสอนให้ผู้เรียนรู้จักจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว จากนั้นจึงสอนให้เขาจัดกลุ่มใหม่จากสิ่งที่เขาได้จำแนกไว้ แล้วสุดท้ายสอนให้เขารู้จักการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆด้วย นอกจากนี้การเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยยังมีปัญหาในเรื่องของการใช้ภาษา นั่นคือ คนไทยได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลแต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ โดยเฉพาะทักษะการพูด เพราะนักเรียนไม่ได้นำภาษาไปใช้ในสถานการณ์จริงๆ ดังนั้นการแก้ปัญหาในด้านนี้ ควรเริ่มจากการชี้แนะความสำคัญของภาษาอังกฤษให้นักเรียนทราบ เพราะเมื่อนักเรียนเกิดรงจูงใจในการเรียนแล้วเขาจะสามารถทำออกมาได้ดี จากนั้นจึงจัดกระบวนการและวิธีการต่างๆที่จะนำนักเรียนไปสู่เป้าหมาย นั่นคือการนำนักเรียนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงๆที่นักเรียนไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้เลย ต้องใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้นจึงจะสามารถเอาตัวรอดได้ อาจกล่าวได้ว่า ครูผู้สอนต้องสอนให้นักเรียน Learning to use the language ไม่ใช่เพียงสอนแบบ Learning the language

จากการฟังการเสวนาในหัวข้อ Beyond language learning นี้แล้วพบว่า เป็นการเรียนภาษาอังกฤษแบบ PBL คือ problem base learning นั่นคือการฝึกการเรียนผ่านปัญหา คือ ปัญหาเรื่อง Critical thinking skill ของนักเรียน และ project base learning คือการเรียนรู้ผ่านการทำงานและการฝึกประสบการณ์ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างในการแก้ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในศตวรรษที่ 21

Learning log
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2558
(ช่วงบ่าย)
การอบรมในช่วงบ่ายของวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2558 เริ่มต้นด้วยการฟังการบรรยายเรื่องการนำคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่คนไทยมักชอบนำมาใช้แบบผิดๆ ทั้งในการพูด และการแปล และยังมีการใช้คำในภาษาอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไป และยังมีการบรรยายเรื่องการออกเสียงคำต่างๆที่คนไทยไม่สามารถออกเสียงได้หรือออกเสียงผิด และรวมไปถึงการเน้นเสียง
ในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากที่มักจะพูดไทยคำอังกฤษคำ แต่คำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่คนไทยนำมาพูดนั้นมักใช้พูดทับศัพท์ เช่น chill chill(สบายๆ แทน chill out) out(ตกเทรนด์ แทน out of date) over(เกินจริง แทน over the top) jam(ร่วมด้วย แทน join) noy(ไม่พอใจ รำคาญ แทน annoy) ชุด sack และ American share(แบ่งกันจ่าย) ซึ่งคำเหล่านี้เป็นการใช้คำที่ผิดและไม่มีในภาษาอังกฤษ หากเรานำไปใช้พูดกับชาวต่างชาติเขาจะไม่เข้าใจเราเลย ยิ่งไปกว่านั้นมีการใช้ชื่อยี่ห้อ หรือชื่อแบรนด์ต่างๆมาใช้แทนชื่อของคำนั้นๆจริงๆ เช่น mama(มาม่า แทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) pampers(แพมเพิร์ส แทนผ้าอ้อม) fab(แฟ็บ แทนผงซักฟอก) นอกจากนี้คำแปลภาษาไทยในภาพยนตร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่มักจะแปลออกมาผิดๆ เพราะมักจะแปลตรงตัวไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสำนวนในภาษาอังกฤษเลย ทั้งนี้การใช้อินเตอร์เน็ตต่างๆมีส่วนทำให้ภาษาอังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ มีการใช้ตัวย่อมากขึ้น เพราะสะดวกและรวดเร็วในการพิมพ์โต้ตอบสนทนากัน มีการสะกดคำผิดแต่อ่านออกเสียงเหมือนเดิม การใช้ emotions แทนคำพูดบางคำด้วย และการใช้คำแสลงมากยิ่งขึ้น ในตอนท้ายของการบรรยายเกี่ยวกับคำศัพท์ มีการเล่นเกมส์หาคำศัพท์ซึ่งให้แข่งขันการหาคำศัพท์ให้ได้มากที่สุด อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ฟังการบรรยายคือการออกเสียงภาษาอังกฤษของคนไทย คนไทยส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาในการออกเสียงท้ายคำแต่ละคำเพราะในภาษาไทยไม่มีการออกเสียงเหล่านั้น การออกเสียงบางเสียงที่ใช้ในการอ่านและการพูดคำศัพท์ไม่มีในประเทศไทย และปัญหาด้านการเน้นเสียง intonation ในการพูดภาษาอังกฤษ คือคนไทยไม่สามารถเน้นเสียงต่างๆได้ถูกต้องตรงตามตำแหน่ง และการ stress คำที่มีมากกว่าหนึ่งพยางค์ และในตอนท้ายของการบรรยายเกี่ยวกับการออกเสียงวิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมออกไปออกเสียงประโยคที่ได้กำหนดให้
จากการฟังบรรยายในช่วงบ่ายที่เกี่ยวกับการนำคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่คนไทยมักชอบนำมาใช้แบบผิดๆ ทั้งในการพูด และการแปล และยังมีการใช้คำในภาษาอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไป และยังมีการบรรยายเรื่องการออกเสียงคำต่างๆที่คนไทยไม่สามารถออกเสียงได้หรือออกเสียงผิด และรวมไปถึงการเน้นเสียง พบว่าสาเหตุที่คนไทยมีปัญหาในด้านนี้เพราะคำที่ใช้ในภาษาไทยนั้นมีความแตกต่างจากภาษาอังกฤษมาก ลักษณะการออกเสียงก็มีความแตกต่างกัน และยิ่งไปกว่านั้นคนไทยไม่ค่อยได้ใช้ทักษะการพูดภาษาอังกฤษในสภาพแวดล้อมจริงๆ จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้นั้นยากที่จะได้รับการพัฒนา ดังนั้นครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียนได้รับการพัฒนาในด้านดังกล่าว

Learning log
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2558
(ช่วงเช้า)
การอบรมในช่วงเช้าของวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2558 เริ่มต้นด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากการเข้ามาในประเทศไทยของภาษาอังกฤษ การเริ่มต้นการเรียนภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
ภาษาอังกฤษได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสอนภาษาอังกฤษครั้งแรกที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แต่การสอนภาษาอังกฤษในช่วงนี้เป็นการสอนแบบท่องจำ ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเรื่อยมา โดยมีวิธีการสอนแบบต่างๆ ดังนี้ วิธีการสอนแบบไวยากรณ์และแปล (The Grammar-Translation Method) วิธีการสอนแบบตรง (The Direct Method) วิธีการสอนแบบฟัง-พูด (The Audio-Lingual Method) วิธีการสอนแบบเงียบ(The Silent Way)  วิธีการสอนตามแนวธรรมชาติ (The Natural Approach) วิธีการสอนแบบชักชวน(Suggestopedia) วิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง  การเรียนรู้แบบร่วมมือ(Cooperative Learning) การเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน(Task-Based Learning) การเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project-Based Learning) แนวการสอนภาษาแบบกำหนดสถานการณ์ แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร การสอนที่เน้นสาระการเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งการสอนในแต่ละแบบมีการสอนและผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ในปัจจุบัน The Flipped Classroom กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันเพราะการสอนแบบนี้สอดรับกับวิถีการสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มากที่สุด เพราะนักการศึกษาต้องการให้เกิดผู้เรียนที่ใฝ่รู้และใฝ่เรียน ไม่ใช่ผู้เรียนที่ท่องจำเก่ง เรียนก่งแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง และนอกจากนี้  The Flipped Classroom ยังเป็นต้นกำเนิดของห้องเรียนกลับด้านอีกด้วย ซึ่งการที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เหล่านี้ได้นั้น ครูผู้สอนต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยี รู้จักปรับการเรียนการสอนให้มีการบูรณาการกับ ICT และรู้จักพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันสมัยอยู่เสมอ และทั้งนี้ครูจะต้องเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้นอีกด้วย
จากการฟังบรรยายในช่วงเช้าที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากการเข้ามาในประเทศไทยของภาษาอังกฤษ การเริ่มต้นการเรียนภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น ทำให้ดิฉันทราบว่าการเรียนภาษาที่ดีนั้นไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวและไม่มีการหยุดนิ่ง ยังคงมีการพัฒนาเรื่อยมาเพื่อให้ได้รูปแบบการเรียนที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆในการใช้ภาษาของนักเรียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของการส่งเสริมครั้งนี้คือความร่วมมือของบุคลากรทุกฝ่าย และประชาชนทุกหมู่เหล่าในประเทศ

Learning log
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2558
(ช่วงบ่าย)
การอบรมในช่วงบ่ายของวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2558 เริ่มต้นด้วยการพูดคุยทบทวนเรื่องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย จากนั้นจึงต่อด้วยการเล่นเกมส์ที่ได้ประยุกต์เข้ามาในการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อช่วยให้นักเรียนมีความสุข สนุกสนานในการเรียนภาษาอังกฤษและสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง
การพูดคุยทบทวนเรื่องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยนั้นเป็นการทบทวนรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยนั่นคือ The Flipped Classroom ต่อมาจึงเป็นการเล่มเกมส์ที่สามารถประยุกต์เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนมีความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ในการเรียนภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น ซึ่งเริ่มจากเกมส์ Tic Tac Toe ซึ่งเป็นเกมส์เป่ายิ้งฉุบในประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมอบรมจับคู่กัน ร่วมกันร้องเพลงและแสดงท่าทางประกอบเพลง จากนั้นเมื่อจบเพลงจึงเป่ายิ้งฉุบ ผู้แพ้จะต้องต่อท้ายผู้ชนะแล้วผู้ชนะจะต้องหาคู่เป่ายิ้งฉุบไปเรื่อยๆ เมื่อแพ้ก็จะต้องต่อท้ายผู้ชนะแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนต่อท้ายกันเป็นแถวยาวมาก และเกมส์ก็ดำเนินต่อไปจนได้ผู้ชนะเพียงผู้เดียว ซึ่งเกมส์นี้สอนเรื่องคำศัพท์ การรู้จักด้านซ้าย ขวา หน้า และหลัง และให้ผู้เรียนได้ร่วมร้องเพลง แสดงท่าทางประกอบตามเพลงด้วย ต่อมาคือเกมส์เล่านิทาน โดยเริ่มจากการกำหนดลูกบอลมา 20 ลูก แล้วให้ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นได้เปิดเพลงไปด้วย เมื่อเพลงจบลง ลูกบอลอยู่ที่ใคร คนนั้นจะต้องออกไปเล่านิทานคนละ  1 ประโยค โดยที่นิทานจะต้องเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อได้นิทานออมาแล้ว 1 เรื่อง ให้ผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งกลุ่มกัน แล้วร่วมกันวาดภาพจากนิทานที่ได้ฟังจากผู้เข้าร่วมทั้ง 20 คนนั้น โดยกำหนดให้วาดได้ไม่เกิน 5 ภาพ จากนั้นจึงส่งตัวแทนของกลุ่มออกไปนำเสนอนิทานจากภาพที่กลุ่มตัวเองได้วาดไว้ โดยที่จะต้องเล่านิทานแบบสรุปให้ไม่เกิน 3 ประโยค และมีการตัดสินว่ากลุ่มไหนสรุปได้ใจความครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดและยังมีการประกวดภาพวาดจากนิทานของแต่ละกลุ่มด้วย ซึ่งเกมส์นี้สอนในเรื่องของ คำศัพท์ การพูด การแก้ปัญหา การใช้ภาษา การใช้ไวยากรณ์ การวาดภาพ และการพูดนำเสนอ และสุดท้ายของวันนี้ร่วมกันสรุปการอบรมเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะที่ได้รับการอบรมมาทั้ง 2 วัน

จากการอบรมในช่วงบ่ายวันนี้พบว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษอาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่เราจะสามารถทำให้นักเรียนมีภาษอังกฤษที่ดีและสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จ ผู้สอนต้องนำจิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน นั่นคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่ชอบการทำกิจกรรม ดังนั้นครูผู้สอนจำเป็นต้องประยุกต์เกมส์หรือกิจกรรมต่างๆเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนมีความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ในการเรียนภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้นและสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น