วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กลยุทธ์ในการเรียนภาษา

กลยุทธ์ในการเรียนภาษา


ในปัจจุบันถือว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษามาตรฐานที่มีการใช้ในการสื่อสารติดต่อระหว่างกันทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยจึงมีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆมากมาย มีความหลากหลายและมีการพัฒนาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้ง โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนสามภาษา และยังมีสถาบันกวดวิชาต่างๆที่เน้นการสอนภาษาอังกฤษซึ่งผุดขึ้นมาเยอะยิ่งกว่าดอกเห็ด รวมไปถึง โปรแกรมการเรียน “ภาคอินเตอร์” ที่สอนวิชาอื่นๆเป็นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อว่าหากผู้เรียนได้เรียนเป็นภาษอังกฤษมากเพียงใด ก็จะสามารถเรียนรู้ เข้าใจและเก่งภาษาอังกฤษมากเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษานอกระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอีกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนภาษาอังกฤษผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งผู้ที่ต้องการเรียนรู้ที่บ้านได้เรียนภาษาอังกฤษอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยก็ยังคงมีปัญหามาจนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้จะมีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไปมากเพียงใดก็ตาม แต่คุณภาพในเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่คาราคาซัง ไม่สามารถแก้ไขได้มาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่ในทุกระดับยังไม่รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะฟัง พูด อ่าน เขียน หรือแปล ในขั้นที่ใช้การได้จริงได้ อาจจะกล่าวได้ว่า แม้ในระดับพื้นฐาน ผู้เรียนของไทย ก็ยังไม่มีความรู้ขั้นนี้มากพอ ยังไม่สามารถเอาตัวรอดได้ จนทำให้ผู้คนมากมายกล่าวว่า ผู้เรียนในปัจจุบันอ่อนภาษามากกว่าผู้คนในยุคก่อน ทั้งที่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ภาษาได้ดีกว่า เพราะมีเทคโนโลยีต่างๆที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และยังมีโอกาสได้พบเห็นและใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าสมัยก่อน เมื่อได้มองไปยังปัญหาของการเรียนภาษาอังกฤษแล้วนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักวิพากษ์วิจารณ์และมั่งประเด็นไปที่ปัจจัยภายนอก ดังนี้
   
      - โทษครูผู้สอน กล่าวคือ มีการกล่าวโทษว่าครูผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดความชำนาญในการใช้ภาษา มีสรรถนะไม่เพียงพอที่จะสอนภาษาอังกฤษ และขาดวิธีการสอนที่สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย รวมไปถึงความเชื่อที่ว่า หากจะเรียนภาษาอังกฤษต้องเรียนกับครูชาวต่างชาติเท่านั้น จึงจะทำให้ผู้เรียนซึมซับและเข้าใจมากขึ้น
         - โทษตำรา แบบเรียน และสื่อการเรียนการสอน กล่าวโทษว่าสิ่งเหล่านี้ที่นำมาสอนผู้เรียนนั้นขาดคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีข้อผิดพลาดมากมาย มีความบกพร่อง ไม่มีความน่าสนใจ ทำให้ไม่ดึงดูดใจผู้เรียน จึงทำให้ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ให้เกิดทักษะในการใช้ภาษาอย่างแท้จริง
         - โทษสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอน โทษว่าการจัดหลักสูตรให้สัดส่วนแก่ภาษาอังกฤษน้อยเกินไป ทั้งในวิชาบังคับและวิชาเลือก ยังไม่เพียงพอต่อการเกิดทักษะ มีเวลาเรียนในสัปดาห์น้อย ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะได้ อีกทั้งชั้นเรียนมีขนาดใหญ่เกินไป จำนวนนักเรียนมากเกินไป ทำให้ผู้สอนไม่สามารถดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง
         - โทษนโยบายของรัฐ ว่านโยบายขาดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับสภาพจริงและมีประสิทธิผล นั่นคือ รัฐบาลไม่สามารถทำให้การเรียนภาษาอังกฤษเป็นการเรียนในสภาพที่แท้จริงได้ ส่วนใหญ่มักเป็นการจำลองสถานการณ์ในชั้นเรียน เมื่อต้องการให้นักเรียนฝึกพูด ทั้งที่ความจริงแล้วควรให้นักเรียนได้ฝึกพูดกับเจ้าของภาษา
         - โทษสภาพแวดล้อมทางสังคม สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ผู้คนส่วนใหญ่ได้เรียนภาษาอังกฤษแต่กลับไม่สามารถได้นำไปใช้จริง จึงทำให้ผู้คนเห็นว่าภาษาอังกฤษไม่มีความจำเป็น
                ประเด็นต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นก็ถือว่าเป็นปัญหาในการเรียนภาษาอังกฤษ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นและสำคัญที่สุดในการเรียนภาษานั่นคือ ตัวบุคคล อาจจะเห็นว่าท่ามกลางความอ่อนแอของระบบการศึกษาภาษาอังกฤษ แต่ก็มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาตนเองได้ดี และเก่งภาษาอังกฤษขึ้นมาได้
                การที่บุคคลคนหนึ่งจะสามารถเรียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ได้อย่างเข้าใจ และสามารถใช้ภาษานั้นๆได้ถูกต้องนั้น อาจมีหลายปัจจัย เช่น มีโอกาสใช้ภาษาในสถานการณ์จริงมากกว่าผู้อื่น อาจเกิดจากการคลุกคลีกับเจ้าของภาษามากพอ หรือได้ใช้บ่อยๆ ได้ศึกษาจากครูที่มีความรู้ความชำนาญเป็นอย่างมาก ตลอดจนได้มีการศึกษาค้นคว้าจากสื่อรอบตัวที่มีคุณภาพมาตรฐานมากพอ แต่บุคคลจะไม่สามารถพัฒนาตนได้ดี หากไม่มีปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ นั่นคือ เป็นผู้ที่มีความถนัดหรือมีความสนใจมากเป็นพิเศษ อาจเกิดจากการชื่นชอบดาราฮอลลีวูด หรือชอบนักร้องต่างชาติ มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษา คือมีความกล้าที่จะพูดคุยกับเจ้าของภาษาโดยไม่กลัวว่าจะถูกหรือผิด มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน คือมีความมั่งมั่นที่จะพัฒนาตนหรือเติมเต็มในส่วนที่ตนยังไม่รู้ โดยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ประกอบกับมีความทุ่มเทมากพอ และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค จากประเด็นข้างต้นจึงอาจสรุปได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนภาษานั้นอยู่ที่ตัวบุคคล หากเรามัวแต่โทษปัจจัยภายนอกนั้น เราจะไม่สามารถพัฒนาทักษะทางภาษาของเราไม่ได้ เราจะมัวแต่หวังพึ่งระบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นคงเป็นไปได้ยาก หรืออาจต้องใช้เวลานาน ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับปัจจัยภายใน โดยการพึ่งตนเองให้มากขึ้น
                การจะพึ่งตนเองให้สามารถเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและการจัดการให้เป็นไปตามระบบ เป็นไปตามลำดับขั้นตอน เพื่อทำให้เราสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้จริง ทำให้มีความสุขในการทำสิ่งเหล่านี้ ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป โดยอาจมีขั้นตอนสำคัญดังนี้
      1. การกำหนดวัตถุประสงค์
                      2. รู้จัก จัดเตรียม และแสวงหาแหล่งความรู้
                      3. พัฒนากลยุทธ์การเรียน
                      4. ลงมือปฏิบัติ
                      เริ่มตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ซึ่งควรกำหนดให้เป็นรูปธรรมว่า จะต้องสามารถทำอะไรได้บ้าง (ฟัง พูด อ่าน เขียน และแปล) ภายในกรอบเวลาอันใด โดยควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น ภายใน 1 ปี สามารถชมข่าวภาษาอังกฤษทางโทรทัศน์ได้เข้าใจจนสามารถสรุปสาระสำคัญของเนื้อข่าวได้ หรือภายใน 6 เดือน สามารถสนทนาขั้นพื้นฐานกับชาวต่างชาติได้ แต่ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายนี้ต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและสามารถทำได้จริง และเมื่อสามารถทำขั้นนี้ได้สำเร็จแล้วนั้น จะนำไปสู่การรู้จักจัดเตรียม และเสาะหาสื่อและแหล่งความรู้
                      เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์แล้ว ก็จะต้องรู้จักจัดเตรียม และเสาะหาสื่อและแหล่งความรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และฝึกทักษะด้วยตนเอง เช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เพื่อการรับชมข่าวต่างประเทศ  หนังสือพิมพ์รายวัน เพื่อฝึกทักษะการอ่านและสร้างความเข้าใจ และคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากและใช้ฝึกทักษะได้หลากหลาย และเมื่อสามารถทำขั้นนี้ได้สำเร็จแล้วนั้น จะนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์การเรียน
                      เมื่อรู้จัก จัดเตรียมและแสวงหาสื่อและแหล่งเรียนรู้แล้ว จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ในการเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผู้เรียนแต่ละคนจะมีวิธีการเรียนและการสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แตกต่างกันออกไปซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่วิธีการพัฒนากลยุทธ์ในการเรียนที่นำมาเสนอนี้เป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยที่ผู้เรียนทุกคนและทุกระดับความสามารถนั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนภาษาอังกฤษที่ดี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปปรับแต่งให้เป็นยุทธ์ศาสตร์เฉพาะตัวตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลต่อไป ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์กับการเรียนวิชาอื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งกลยุทธ์ในการเรียนภาษามีองค์ประกอบดังนี้
                               
                                1. ศึกษา
                                การเรียนภาษาจะต้องเริ่มจากความรู้เกี่ยวกับตัวภาษาโดยตรงก่อนเสมอ คือเราต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษานั้นที่เราต้องการจะศึกษา สำหรับในภาษาอังกฤษนั้น ความรู้ที่เปรียบเสมือนเสาหลัก คือ ศัพท์ คือ ถ้อยคำที่ใช้แทนความหมาย และไวยากรณ์ คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องการนำถ้อยคำมาร้อยเรียงประกอบกันเข้าเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายได้สมบูรณ์ นอกจากตัวเนื้อภาษาแล้ว ยังมีความรู้อีก 2 ด้านใหญ่ๆ ที่ไม่ควรละเลย
                                      - ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษา กล่าวคือ ในภาษาอังกฤษที่ใช้ในปัจจุบันนี้นั้น มีภาษาอังกฤษ 2 แบบ คือ อังกฤษแบบอังกฤษ และอังกฤษแบบอเมริกัน ซึ่งทั้งสองแบบนี้ใช้ต่างกัน ดังนั้นเราจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้ให้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีในด้านของการใช้ภาษาสื่อสารกับบุคคลในระดับต่างๆในสังคม และการเรียนรู้ภาษาที่ถูกต้อง
                                      - ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชนชาติเจ้าของภาษา (สังคม วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ วรรณคดี ฯลฯ) ซึ่งในการเรียนภาษา ความรู้เหล่านี้ถือเป็นตัวสำคัญที่สามารถทำให้เราเข้าใจภาษาที่กำลังศึกษาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และช่วยให้สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับเจ้าของภาษาได้อย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย
แต่อุปสรรคสำคัญในการเรียนการสอนภาษาในบ้านเราคือ มักมีผู้คนเน้นย้ำกับผู้เรียนเสมอว่า “ภาษาเป็นวิชาทักษะ ไม่ใช่วิชาเนื้อหา” จึงทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจผิดว่า ในการเรียนภาษาไม่จำเป็นต้องเรียนเนื้อหา แค่ฝึกปฏิบัติให้มากก็สามารถเข้าใจได้ ซึ่งนั่นถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เรียนไม่ให้ความสำคัญต่อเนื้อหา ทั้งๆที่หากเราไม่มีความรู้ในด้านของเนื้อหา เราจะไม่สามารถใช้ทักษะอย่างถูกต้องได้ จากนี้เราต้องสร้างความเข้าใจว่า เนื้อหา เป็นหลักของภาษาโดยตรง และเมื่อเรามีเนื้อหาของภาษาที่แน่นมากพอแล้ว เราจึงควรฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะที่มีคุณภาพ
                                2. ฝึกฝน
                                การเรียนภาษาต่างจากการเรียนวิชาอื่นๆ คือ ผู้เรียนจะต้องมีทั้งความรู้และทักษะควบคู่กันไป คือ มีความรู้ในภาคทฤษฎีและมีทักษะในภาคปฏิบัติ เพราะหากเรียนเฉพาะภาคทฤษฎีโดยไม่ฝึกปฏิบัติก็จะทำให้การใช้ภาษาไม่บรรลุผลได้ เพราะการฝึกทักษะทางภาษาก็คือการฝึกพฤติกรรมการใช้ภาษาซ้ำแล้วซ้ำอีกจากข้อมูลความรู้ภาคทฤษฎี จนผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ถูกต้องคล่องแคล่ว ฉะนั้น หากผู้เรียนมีความรู้ด้านเนื้อหาที่ถูกต้องแต่นำไปใช้ผิด ก็จะทำให้การสื่อสารนั้นไม่บรรลุผล ซึ่งการจะฝึกภาษาให้ได้ผลนั้นจะต้องผ่านองค์ประกอบดังนี้
                                      - ตา – ดู ซึ่งส่วนนี้ครอบคลุมทั้งการอ่าน การดู และการสังเกต ซึ่งการจะฝึกการใช้ภาษานั้นต้องเริ่มจากการรับสารเข้ามายังตัวบุคคลก่อน นั่นคือ การอ่าน โดยสามารถทำได้จากการอ่านหนังสือ อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ และการอ่านบทความ ซึ่งในขณะอ่านเราอาจจะมีคำที่ไม่เข้าใจ จึงจำเป็นต้องแปลความหมาย เพื่อให้เรามีความเข้าใจมากขึ้น และได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่ๆในสมอง นอกจากนี้ยังมี การดู ซึ่งเกิดจากการดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งในช่วงแรกของการฝึก อาจฝึกโดยการมีคำแปลภาษาไทยก่อน เมื่อเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถดูได้เข้าใจโดยไม่จำเป็นต้องดูคำแปลภาษาไทย
                                      - หู - ฟัง ครอบคลุมทั้งเสียงและน้ำเสียงของผู้พูดในการสนทนาซึ่งหน้าหรือสนทนาทางโทรศัพท์ ซึ่งในตอนแรกเราอาจจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่เมื่อเราได้ฝึกฟังบ่อยๆก็จะสามารถทำให้เราเข้าใจได้ทั้งหมด ในตอนแรกหากเราฟังไม่เข้าใจเราอาจจะให้ผู้พูดช่วยพูดให้ช้าลง เพื่อให้เราสามารถเข้าใจความหมายได้ทีละคำ แต่เมื่อเราชำนาญแล้วเราก็อาจฟังเขาพูดในระดับปกติได้ ฟังบรรยาย ฟังแถบบันทึกเสียง ฟังเสียงในฟิล์มของภาพยนตร์ สำหรับในส่วนนี้ ตรงไหนที่เราฟังไม่เข้าใจเราสามารถกดหยุดแล้วก็กลับไปฟังในส่วนที่เราไม่เข้าใจได้ เพื่อทำให้เราสามารถเข้าใจได้มากขึ้น และอาจจะฟังในส่วนที่ไม่เข้าใจนั้นซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อให้สามารถจำได้ โทรทัศน์ วีดีทัศน์ และสื่อมัลติมีเดียทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต

                                      - ปาก-พูด หมายถึง การออกเสียง การพูด การสนทนา การอ่านออกเสียง และยังครอบคลุมไปถึงการพูดในที่ประชุม การนำเสนอด้วยวาจา การกล่าวสุนทรพจน์ การบรรยายและการปาฐกถา โดยที่เราจะต้องฝึกพูดบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อนหรือกับครูอาจารย์ รวมไปถึงชาวต่างชาติที่เราพบเจอ เพื่อที่เขาจะได้เห็นข้อบกพร่องของเราและให้คำแนะนำเพื่อที่เราจะได้นำไปปรับปรุง พัฒนาและฝึกให้ดียิ่งขึ้นไป
                                      - มือ-เขียน ได้แก่การเขียนและหมายรวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ทดแทนการเขียนด้วยมือ เช่น เครื่องพิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ ผู้เรียนภาษาต้องใส่ใจเรื่องระเบียบแบบแผนที่ถูกต้องในการเขียน คือ ตัวสะกด การแบ่งวรรคตอน การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ การใช้อักษรตัวใหญ่และแม้กระทั่งลายมือและยังรวมไปถึงการคำนึงถึง ความถูกต้องในหลักไวยากรณ์ ซึ่งในสำหรับการฝึกเขียนนั้นในขั้นเบื้องต้นอาจเริ่มจากการเขียนข้อความสั้นๆ บันทึกประจำวัน แล้วจึงพัฒนาไปสู่การเขียนเรียงความ
                                ทั้ง 4 ทางนี้สอดคล้องกับทักษะการใช้ภาษา 4 ด้าน นอกจากนี้ยังต้องมีแรงเสริมอีก 2 ทางคือ
                                      - หัว-คิด หมายถึง สมรรถนะทางด้านปัญญาในการคิดพิจารณา-วิพากษ์-วิจารณ์สิ่งที่กำลังศึกษา นั่นหมายถึงว่า ไม่ว่าเรากำลังทำอะไร ให้คิดเสมอว่าสิ่งที่ทำออกไปนั้น ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แล้วจึงนำข้อผิดพลาดมาแก้ไข้ ปรับปรุง
                                      - ใจ- รัก หมายถึง สมรรถนะทางด้านจิต เริ่มด้วยฉันทะ คือ ใจรักสิ่งที่ศึกษาก่อน เพราะหากเรามีใจรักนั้น ไม่ว่าเราจะศึกษาเรื่องอะไร จะสามารถทำให้เรามีความสุข และเข้าใจได้ง่า จากนั้นก็มีความหมั่นเพียรในการศึกษา และมีความใส่ใจในสิ่งที่ศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด
                                ทั้ง 6 ข้อ นี้อาจเรียกชื่อโดยรวมเพื่อให้จดจำได้ง่ายว่า อินทรีย์ 6 ในการเรียนภาษา แต่ถึงแม้ว่าการฝึกทักษะเฉพาะด้าน โดยลักษณะธรรมชาติของการใช้ภาษาต้องอาศัยอวัยวะที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาทำงานประสานสัมพันธ์กันอยู่ดี กล่าวคือ ตา-หู-ปาก ใช้ในการสื่อสารด้วยวาจา หู-ปาก ใช้ในการสื่อสารทางโทรศัพท์ ส่วน ตา-มือ ใช้ในการสื่อสารด้วยลายลักษณ์อักษร ตา-หู-มือ ใช้ในการบันทึกระหว่างฟังบรรยาย เป็นต้น ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษ ได้ไม่คล่องแคล่ว ก็คือ ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังฝึกใช้ทักษะภาษาน้อยเกินไปในทุกทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพูดและการเขียน ฉะนั้นเมื่อเรียนมาโดยได้ความรู้ด้านศัพท์และไวยากรณ์ที่ไม่แข็งแรงและขาดการฝึกฝน แม้จะเรียนภาษาอังกฤษมาหลายปีแต่ในที่สุดก็เหมือนกับไม่ได้อะไรเลย ฉะนั้นการเรียนภาษาเพื่อการสื่อสารจึงล้มเหลวเพราะไม่มีตัวภาษาที่จะให้ใช้สื่อสารได้
                                3. สังเกต
                                ภาษาอังกฤษมีเนื้อหาอยู่มาก บางเรื่องบางด้านก็เป็นเรื่องซับซ้อน ซึ่งผู้ที่ไม่คุ้นจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก บางเรื่องก็เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาเอง ไม่อาจใช้เหตุผลคาดคะเนหรือใช้ตรรกะหยั่งรู้เอาเองได้ ผู้เรียนภาษาที่ดีจึงต้องฝึกเป็นคนช่างสังเกต มีความละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบในการเรียนและการใช้ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องใส่ใจในเรื่องเยอะใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
                                      - ไวยากรณ์ เช่น โครงสร้างของวลีและประโยค การเรียงลำดับคำ การผันรูปตาม tense
                                      - ศัพท์ เช่น ชนิดของคำ (ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยประกอบท้ายศัพท์) และมีนัยสำคัญทางไวยากรณ์ คำที่มีหลายความหมาย คำที่มักปรากฏร่วมกัน (collocation)
                                      - ภาษาสำเร็จรูป ซึ่งมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างศัพท์กับไวยากรณ์ ได้แก่ โวหาร (expression) ซึ่งใช้สื่อความหมายในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความนิยมในการใช้ภาษา (เช่น การทักทาย,การขอบคุณ,การขอโทษ) สำนวน (idiom) ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากความหมายของถ้อยคำที่นำมารวมกัน ตลอดจนสุภาษิต (proverb) ซึ่งใช้แทนถ้อยคำที่ใช้ทั่วไป แต่สื่อความหมายได้กระชับและให้คติสอนใจอีกด้วย
                                4. จดจำ
                                ในยุคที่การปฏิรูปการศึกษากำลังเฟื่องฟูนี้ มีนักการศึกษาส่วนหนึ่งมักจะพูดตำหนิวิธีการเรียนแบบท่องจำในลักษณะที่สุดโต่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดเลยเถิดไปว่า การท่องจำเป็นวิธีเรียนที่เชย ล้าสมัย ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ การท่องจำจึงไม่จำเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้
                                แต่ตามความเป็นจริง "ความจำ" เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการเรียนรู้ทุกชนิด รวมทั้งการเรียนภาษาด้วย กิจกรรมการเรียนรู้บางอย่างอาจอาศัยเพียงความจำตามครรลองปกติ คือ ปล่อยให้จำได้เองตามธรรมชาติจากการหมั่นฝึกฝน หรือทำซ้ำซากซักซ้อมทวนทานจนจำได้เอง แต่การเรียนภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาต่างประเทศ ในหลายๆกรณี การฝึกฝนตามครรลองปรกติจนจำได้เองอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัย "การท่องจำ" มาเสริม กล่าวคือ ท่องปากเปล่าเพื่อให้จดจำถ้อยคำหรือข้อความจนสามารถเรียกกลับมาใช้ได้ดังใจตามต้องการ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการเรียนภาษาที่มีวิภัตติ์ปัจจัย (เช่น บาลและสันสกฤต) ย่อมทราบดีว่าการท่องรูปผันของคำนาม คำคุณศัพท์ และคำกริยา(การแจกวิภัตติ์)มีความจำเป็นและมีประโยชน์อย่างไร
                                ผลเสียจากการที่ผู้เรียนภาษาอังกฤษในยุคปัจจุบันละทิ้งการท่องจำมีตัวอย่างที่เห็นชัดเรื่องหนึ่ง คือ ไม่สามารถใช้รูปคำกริยาที่ ผันรูปผิดปกติได้ถูกต้อง หรือเกิดความสับสนเป็นประจำ
                                 จากการท่องจำมาถึงเรื่อง "การจดจำ" เพราะบางครั้งจะอาศัยการท่องปากเปล่าเพียงอย่างเดียวอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ (เช่น ในระหว่างฟังการบรรยาย) หรืออาจไม่เพียงพอ จำต้องอาศัยการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแทน หรือควบคู่ไปกับการท่องปากเปล่า สิ่งที่จดบันทึกไว้ยังสามารถใช้ตรวจสอบอ้างอิงในภายหลังได้ ด้วยเหตุนี้ในชั้นเรียนของผู้เขียนเอง เมื่อมีการให้ความรู้ในภาคทฤษฎี โดยเฉพาะเรื่องวิธีใช้คำและประเด็นไวยากรณ์ที่ซับซ้อน จึงมักเตือนผู้เรียนว่าต้อง "จดใส่สมุด จำใส่สมอง" หรือ "จดใส่กระดาษจำใส่กะโหลก" แทนที่นั่งฟังเฉย ๆ โดยไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจ
                                5. เลียนแบบ
                                แต่ละภาษามีสัญนิยม (convention) ของตนเอง อันเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน มิฉะนั้นจะสื่อสารกันไม่ได้เลย คนที่เป็นสมาชิกใหม่ของประชาคมที่ใช้ภาษานั้น ๆ (เช่น เด็กเกิดใหม่ที่เริ่มเดือนภาษาแม่ หรือนักเรียนที่เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ) ก็ต้องยอมรับ ศึกษา และใช้ตามสัญนิยมนั้น ด้วยเหตุนี้ การเรียนภาษาจึงต้องอาศัยการเรียนตลอดทุกขั้นตอนหรือจะว่าตลอดชีวิตก็คงได้ ดังนี้
                                      - เริ่มจากเด็กที่เรียนภาษา ย่อมต้องหัดพูดตามหรือเลียนแบบภาษาของพ่อแม่และบุคคลอื่นในครอบครัว
                                      - เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น นักเรียนนักศึกษาจะเรียนภาษาของครูอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้น นอกเหนือจากบุคคลในครอบครัวและสังคม
                                      - แม้เมื่อเรียนสำเร็จและออกมาประกอบอาชีพแล้ว คนในแต่ละสาขาอาชีพจะมีภาษาในแวดวงของตนเองที่จะต้องเลียนเลยใช้ตาม เพื่อที่จะสื่อสารกับเพื่อนร่วมอาชีพได้
                                ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างการเรียนภาษาแม่กับภาษาต่างประเทศ ก็คือผู้ที่เรียนภาษาแม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเจ้าของภาษา จึงมีแหล่งข้อมูลความรู้ภาษาที่ถูกต้องมากกว่าเล่มมีมากมายเพียงพอที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการฝึกตามได้ ในขณะที่ผู้เรียนภาษาต่างประเทศจะมีข้อเสียเปรียบในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะขาดแคลน "แบบ" ที่ใช้ "เลียน" ทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณ
                                ด้วยเหตุดังกล่าว พจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษาจึงมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพจนานุกรมสำหรับเจ้าของภาษาคือ สอดแทรกประโยคตัวอย่างที่แสดงวิธีใช้ถ้อยคำตามภาษาที่มีใช้จริง เพื่อให้ผู้ใช้พจนานุกรมสามารถใช้เป็นแบบที่ถูกต้องในการศึกษาและฝึกฝน นอกจากนี้พจนานุกรมฉบับซีดีรอมยังบันทึกเสียงคำอ่านของคำศัพท์ และมักเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถอัดเสียงของตนเองในระหว่างการฝึกเลียนแบบอีกด้วย พจนานุกรมจากสำนักพิมพ์อังกฤษมีบันทึกเสียงทั้งอังกฤษและแบบอเมริกันให้ผู้ใช้เลือกฝึกได้ตามต้องการ
                                อนึ่ง พจนานุกรมบางฉบับ นอกจากจะออกเสียงศัพท์ที่เป็นคำตั้งเหมือนฉบับอื่น ๆ แล้ว  ยังออกเสียงให้ฟังทั้งประโยคอีกด้วย นับเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตนเอง
                                6. ดัดแปลง
                                เมื่อเลียนแบบแล้ว ต้องรู้จักดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์ในการใช้ภาษาในสถานการณ์ต่าง ๆ การรู้จักดัดแปลงย่อมต้องอาศัยความรู้เรื่องไวยากรณ์ประกอบกับความรู้เรื่องศัพท์และสำนวนโวหารต่าง ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญ
                                ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษา จึงให้ข้อมูลทางไวยากรณ์ในรูปของโครงแบบกริยา (verb pattern) หรือโดยใช้รหัสไวยากรณ์  (grammar code) ข้อมูลลักษณะนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใช้สามารถดัดแปลงถ้อยคำและโครงสร้างที่ปรากฏในประโยคตัวอย่างได้สะดวกยิ่งขึ้น
                                7. วิเคราะห์
                                การเรียนภาษาในระดับเบื้องต้นจำต้องอาศัยกันเรียนอยู่มาก แต่เมื่อเรียนในระดับสูงขึ้นต้องอาศัยการวิเคราะห์เข้ามาเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการอ่าน การเขียน และการเปลภาษาวิชาการและภาษาวิชาชีพ ซึ่งมีความซับซ้อนยิ่งกว่าภาษาทั่วไป การวิเคราะห์มีได้ใน 3 ระดับใหญ่ๆ คือ
                                      - ระดับศัพท์ คือ วิเคราะห์โครงสร้างและความหมายของศัพท์และสำนวน
                                      - ระดับไวยากรณ์ คือ วิเคราะห์โครงสร้างและความหมายของวลีและประโยค
                                      - ระดับถ้อยความ คือ วิเคราะห์โครงสร้างและความหมายระหว่างประโยค ตลอดจนโครงสร้างและความหมายโดยรวม ที่พูดหรือผู้เขียนต้องการสื่อ
                                8. ค้นคว้า
                                ความรู้ที่มีอยู่ในตำรา แบบเรียน หรือสื่อการเรียนอื่น ๆ ยังมีไม่เพียงพอ ผู้เรียนจำต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษา ซึ่งให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์สารพัดด้านไว้อย่างครบครัน ไม่เฉพาะแต่ให้ความหมายของคำศัพท์เท่านั้น
                                การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเรายังอ่อนเรื่องการค้นคว้าอยู่มาก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ครูผู้สอนภาษาอังกฤษบางส่วนนอกจากไม่แนะนำส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้พจนานุกรมแล้ว บางครั้งยังไม่สนับสนุนให้ใช้และถึงกับภาพใช้ก็มี แต่จะสอนให้รู้จักเดาความหมายจากรูปศัพท์บ้าง จากบริบทบ้าง และมักจะอ้างตามตำราฝรั่งว่า ในการอ่าน (หรือการฟัง) ไม่จำเป็นต้องรู้ศัพท์ทุกคำก็ได้
                                จริงอยู่ ในสภาพความเป็นจริงของการใช้ภาษาการตั้งเป้าหมายว่าผู้เรียนหรือผู้ใช้ภาษาต้องรู้ศัพท์หมดทุกคำ หรือต้องใช้ภาษาโดยไม่ผิดเลยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เพราะเป็นไปไม่ได้ และไม่จำเป็นด้วย แต่การพร่ำสอนให้ผู้เรียนอาศัยแต่การเดา ไม่ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม (คอยฟังแต่ครูบอกอย่างเดียว) จนผู้เรียนคล้อยตามได้หลงเชื่อแล้วก็เป็นอันตรายอย่างมากเช่นกัน ยิ่งต้องเรียนและใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่สูงขึ้น มักจะพบว่า ความรู้ต่าง ๆ ที่เรียนมานั้นพร่ามัว ทำให้ขาดความมั่นใจในการใช้ภาษา หรือมิฉะนั้นก็ใช้ภาษาไปอย่างผิดๆถูกๆ โดยไม่รับผิดชอบ อันเป็นปรากฏการณ์ที่มีให้พบเห็นบ่อยๆ แม้ในสถาบันอุดมศึกษา
                                ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกกรณีหนึ่งก็คือ การที่คนไทยออกเสียงคำภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง มักมีสาเหตุจากการใช้วิธีการเดาจากตัวสะกดตามที่ครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และฝึกออกเสียงตามครู โดยขาดความรู้พื้นฐานเรื่องระบบเสียงในภาษาอังกฤษ และความสัมพันธ์ระหว่างตัวสะกดกับวิธีออกเสียงตามหลักวิชาที่ถูกต้อง อีกทั้งไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยในการค้นคว้าตรวจสอบให้รู้ชัด ฉะนั้นเมื่อสภาพในสังคมส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ ผู้เรียนเองจำต้องตื่นตัวและพึ่งตัวเองให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ต้องเรียนรู้วิธีใช้สัทอักษร (phonetic alphabet) ประกอบกับการฟังวิธีออกเสียงจริงโดยเจ้าของภาษาจากแผ่นซีดีรอมที่มาพร้อมกับพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษาดังกล่าวมาแล้ว
                                9. ใช้งาน
                                เมื่อเรียนรู้ภาษาไปบ้างแล้ว ก็สมควรจะใช้งานจริงในภาคสนามด้วย เพื่อทดสอบและตรวจสอบดูว่าความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มานั้นเพียงพอหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศบางแห่ง จึงมีข้อกำหนดสำหรับนักศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ ให้ไปเรียนในประเทศเจ้าของภาษาอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา
                                การมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเช่นนี้ทำให้ได้ใช้ภาษาในสภาจริงอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา เป็นปัจจัยที่เสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาได้อย่างดียิ่ง และทำให้ได้ตระหนักถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง เนื่องจากได้เรียนรู้ "ของจริง" ซึ่งบางครั้งอาจแตกต่างอย่างมากจากประสบการณ์ในสถานการณ์จำลองพระในชั้นเรียนภาษาของบ้านเราเอง อันเป็นการเปิดโอกาส
                                10. ปรับปรุง
                                ในการฝึกฝนการใช้ภาษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ภาษาในชีวิตจริง ผู้เรียนภาษาที่ดีต้องช่างสังเกตและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดบกพร่อง ไม่ว่าในแง่ศัพท์สำนวน ไวยากรณ์ วิธีออกเสียง หรือในด้านอื่น ๆ ก็ตาม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขด้วยการศึกษา ฝึกฝน วิเคราะห์ ค้นคว้า และหาโอกาสไปทดสอบใหม่ เพื่อวัดความก้าวหน้าหรือพัฒนาการในการใช้ภาษาในด้านนั้นๆ
อนึ่งองค์ประกอบทั้งสิบของกลยุทธ์ในการเรียนภาษานี้มีความเกี่ยวเนื่องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน จำเป็นต้องนำมาใช้บ่อยๆ ใช้อย่างสม่ำเสมอและยังต้องใช้อย่างต่อเนื่องตลอดไปอีกด้วย จึงจะบังเกิดผล เพราะว่าการเรียนภาษาถือเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินไปตลอดชีวิต ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นสิ่งที่ต้องเพราะบ่มสะสมเป็นเวลานาน ไม่ใช่จะได้มาโดยเพียงผ่านการเรียนกวดวิชาหรือฝึกอบรมเข้มไม่กี่สิบชั่วโมง ดังที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกัน

จะเห็นได้ว่าการเรียนภาษาอังกฤษนั้นถึงแม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ และมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาหลักในด้านการศึกษาอีกเรื่องหนึ่งของคนไทย เพราะไม่ว่าคนไทยจะเรียนภาษาอังกฤษมาแล้วกี่ปี ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ถูกต้องจริง ซึ่งการที่จะผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้นั้น เราไม่ควรมัวแต่โทษปัจจัยภายนอก เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราควรเริ่มที่ตัวเราเองและพึ่งตนเองให้มากที่สุด ซึ่งการที่จะศึกษาภาษาอังกฤษให้เข้าใจอย่างถ่องแท้นั้น เราควรเริ่มจากการเปิดใจและเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษเสียก่อน เมื่อเรามีทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษนั้น การที่เราจะเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นไม่ยากเลย แต่ต้องพึงระลึกเสมอว่า การเรียนภาษานั้น ต้องเรียนเนื้อหาควบคู่ไปกับทักษะ ไม่ควรละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะหากละเลยสิ่งใดไป จะทำให้การเรียนรู้นั้นไม่บรรลุผล ซึ่งในการเรียนภาษาอังกฤษ ก็จะมีกลยุทธ์ในการเรียนสำหรับบุคคลในทุกระดับความสามารถให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ คือ ศึกษา ฝึกฝน สังเกต จดจำ เลียนแบบ ดัดแปลง วิเคราะห์ ค้นคว้า ใช้งาน และปรับปรุง เมื่อเราสามารถทำตามกลยุทธ์ทั้งหมดเหล่านี้ได้แล้ว เราจะกลายเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น