วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล

บทที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล
ในปัจจุบันมีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการแสดงและอธิบายความหมายเพื่อการโต้ตอบระหว่างมนุษย์ทั่วโลก จากการที่การคมนาคมสื่อสารเจริญรุดหน้าไปมาก คนต่างชาติต่างภาษาในโลกได้มีการติดต่อกันมากขึ้นทุกวัน การแปลจึงทวีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีการติดต่อกับต่างประเทศในวงการต่างๆมากขึ้น ผู้ที่ทำการติดต่อนั้นบางคนอาจจะรู้ภาษาต่างประเทศไม่ดีพอ จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้แปลเพื่อประหยัดเวลาและเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ งานแปลจึงสามารถยึดเป็นอาชีพได้และได้รับการยกย่องว่าเป็นอาชีพที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศให้เร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี
จากการที่ประเทศไทยได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับนานาประเทศมากขึ้น นอกจากความสัมพันธ์ด้านการเมืองแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ทำให้เกิดความจำเป็นในการที่ต้องมีการถ่ายทอดความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศที่ใช้ภาษาต่างกันสามารถทำความเข้าใจกันได้


การแปลในประเทศไทย
การแปลในประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งโกษาปานไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์แห่งประเทศฝรั่งเศส จึงมีการฝึกนักแปลประจำราชสำนัก มีการแปลเอกสารต่างๆในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการสอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก
การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเริ่มมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ตั้งแต่ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ รวมทั้งความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการด้านการแปลจึงมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้การแปลจะช่วยให้ลดความไม่เข้าใจกันเนื่องจากมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน และ สร้างความเข้าใจระหว่างนานาชาติทำให้เกิดสันติภาพในโลก
งานแปลของไทยเช่นเดียวกันจากการที่เรามีบริษัทตัวแทนในการค้าขายจากต่างประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาชาวต่างประเทศในการพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆ ตลอดจนมีการท่องเที่ยวที่นำเงินรายได้ให้กับประเทศ จึงควรมีการแปลงงานทุกอย่างหรือเปลมาเป็นภาษาไทยให้มากที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างประเทศ ระหว่างประชาชน และระหว่างสังคม ระหว่าง วัฒนธรรม ที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นงาน ด้านวิชาการหรือเรื่องสั้น นวนิยาย วรรณคดี และบทประพันธ์ต่างๆ

การแปลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้แปลจะต้องเป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีนักภาษาด้วยเพื่อป้องกันการใช้ภาษาวิบัติ เพื่อพัฒนาภาษาให้ดีให้เหมาะสมกับเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ทันทีและอีกประการหนึ่งการแปลมีปัญหาอยู่มากเนื่องจากขาดความรู้เรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรม

การสอนแปลในระดับมหาวิทยาลัย
การสอนแปลในระดับมหาวิทยาลัยเป็นการสอนไวยากรณ์และโครงสร้างของภาษา การใช้ภาษา รวมทั้งการอ่านเพื่อความเข้าใจ เนื่องจากนักศึกษายังขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้และผู้ที่จะแปลได้ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางภาษาอย่างดีแล้ว โดยได้รับการฝึกฝนในเรื่องไวยากรณ์และโครงสร้างภาษาอังกฤษอย่างได้ผลจริงๆ นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจและนำมาใช้ในวิชาเเปลเพราะจะทำให้สามารถอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ดีไม่เกิดปัญหาในการอ่านหรือเขียนประโยคบางแบบโดยเฉพาะประโยคที่มีโครงสร้างยากๆหรือยาวๆทั้งในภาษาต้นฉบับและภาษาที่จะใช้แปล

การแปลคืออะไร
การแปลคือการถ่ายทอดความคิดจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง โดยให้มีใจความครบถ้วนสมบูรณ์ตรงตามต้นฉบับทุกประการ ไม่มีการตัดต่อหรือแต่งเติมที่ไม่จำเป็นใดๆทั้งสิ้นอีกทั้งควรรักษาให้ได้รูปแบบตรงตามต้นฉบับเดิม การแปลจึงเป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้และฝึกปฎิบัติได้ แต่การแปลทางด้านวรรณคดีและการแปลร้อยกรองเป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องอาศัยจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ พรสวรรค์และความสามารถเฉพาะของผู้เรียน

คุณสมบัติของผู้แปล
1. รู้ลึกซึ้งในเรื่องภาษา มีความรู้พื้นฐานด้านภาษาอย่างดีมีความสามารถในการใช้ภาษา
2. รักการอ่าน ค้นคว้า
3. มีความอดทนมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไข
4. มีความรับผิดชอบรู้จักใช้ความคิดของตนเอง

วัตถุประสงค์ของการสอนเเปล
1. เป้าหมายที่สำคัญของการสอนแปลคือการฝึกเพื่อผลิตนักแปลที่มีคุณภาพให้ออกไปรับใช้สังคมในด้านต่างๆ
2. การสอนแปลให้ได้ผลวิชาแปลเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับทักษะ 2 ทักษะ คือทักษะในการอ่านและทักษะในการเขียน ผู้แปลจะต้องอ่านเข้าใจ สามารถจับใจความสำคัญได้และสามารถถ่ายทอดความเข้าใจนั้นออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้
3. ผู้สอนแปลต้องหาทางเร่งเร้าให้ผู้เรียนได้อ่านอย่างกว้างขวางมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้มีการค้นคว้าเพื่อหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเองจากหนังสืออ้างอิงหรือแหล่งวิชาการต่างๆ
4. ให้ผู้เรียนแปลได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักแปลอาชีพหรือผู้ใช้บริการการแปล
จะเห็นได้ว่าการสอนเเปลจะบรรลุงานเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย
การแปลที่ดีจะต้องถ่ายทอดความหมายของต้นฉบับได้อย่างถูกต้องสวยงามจนกระทั่งผู้อ่านไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังอ่านสำนวนแปล ผู้แปลจะต้องมีศิลปะที่จะซ่อนเร้นร่องรอยของการแปลไว้อย่างมิดชิดจนกระทั่งผู้อ่านเกิดความประทับใจเช่นเดียวกับการอ่านจากต้นฉบับ
งานแปลเป็นงานที่ยากเเละเป็นงานที่ไม่มีใครกล่าวขอบคุณผู้แปลแต่จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ถ้ามีการแปลผิดพลาด แต่ถ้าเเปลดีก็จะได้รับการคำยกย่องเล็กน้อย ผู้ที่รู้สองภาษาอย่างดีจึงจะแปลหนังสือได้ดี อย่างไรก็ตามรางวัลของผู้แปลก็คือผลงานแปลของเขาเอง

บทบาทของการแปล
ในการสื่อสารระบบนี้มีผู้แปลเป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ขบวนการสื่อสารนี้จึงเป็นเรื่องพิเศษ ผู้แปลในฐานะที่เป็นตัวกลางในการส่งสารจึงมีบทบาทสำคัญมาก เพราะผู้แปลจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ซึ่งในการส่งสารแบบนี้จะต้องประสบความแตกต่างทั้งในด้านการใช้ภาษา ความรู้ อาชีพ สังคม วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
ความต้องการของตลาดงานแปลในปัจจุบัน เน้นการแปลข้อความจากภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยมากที่สุด และวิธีการเเปลส่วนใหญ่คือแปลเรียบเรียงรงตามต้นฉบับโดยไม่ตัดทอน รองลงไปได้แก่เก็บความ เรียบเรียงและเขียนใหม่

ลักษณะของงานแปลที่ดี
ลักษณะของงานแปลที่ดีควรจะมีเนื้อหาข้อเท็จจริงตรงตามต้นฉบับ ใช้ภาษาที่ชัดเจนกระชับความใช้รูปประโยคสั้นๆ แสดงความคิดเห็นได้แจ่มแจ้ง ใช้ภาษาเปรียบเทียบได้เหมาะสมและรักษาหรือสไตล์การเขียนของผู้แต่งงานต้นฉบับไว้ และมีการปรับแต่งถ้อยคำสำนวนให้เข้ากับสภาพสังคม เพื่อให้ผู้อ่านงานแปลเกิดความเข้าใจ

ลักษณะงานแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่ดี
1.  ภาษาไทยที่ใช้ในงานแปลนั้นมีลักษณะเป็นธรรมชาติ ไม่ติดสำนวนฝรั่ง ปรับให้เป็นสำนวนไทยตามที่ใช้กันโดยทั่วไป
2.  สามารถนำต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบเคียงกับคำแปลภาษาไทยได้ เน้นความชัดเจนของภาษาเป็นสำคัญ
3. ใช้การแปลตีความ เก็บความเรียบเรียงและเขียนใหม่ ไม่แปลคำต่อคำ

การให้ความหมายในการแปล
การส่งสารโดยวิธีการแปลเป็นภาษาแม่ของตนการให้ความหมายมี 2 ประการคือ
1.  การแปลที่ใช้รูปประโยคต่างกันแต่มีความหมายอย่างเดียวกัน
2.  การตีความหมายจากบริบทของข้อความต่างๆ อาจจะดูจากสิ่งของ รูปภาพ การกระทำ ตลอดจนสถานภาพต่างๆ

การแปลกับการตีความจากบริบท
ให้ดูสถานภาพที่เป็นอยู่ของข้อความไม่ใช่เเปลให้ความหมายเดียวกันในรูปประโยคที่ต่างกัน
ดังนั้นผู้แปลจึงต้องทำให้นามธรรมนั้นออกมาเป็นความคิดรวบยอดจากรูปภาพและสามารถสรุปความหมายออกมาได้

การวิเคราะห์ความหมาย
1.              องค์ประกอบของความหมาย
เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย ภาษาแต่ละภาษาจึงต้องมีระบบที่จะแสดงความหมาย คือ
1. คำศัพท์ คือคำที่ตกลง ยอมรับกันของผู้ใช้ภาษาที่จะมีคำศัพท์จำนวนมากในการสื่อความหมาย ความหมายของคำแต่ละคำจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในบริบทต่างๆตามที่คำนั้นปรากฏอยู่
2. ไวยากรณ์ หมายถึง แบบแผนการจัดเรียงคำในภาษา เพื่อให้เป็นประโยคที่มีความหมาย
3. เสียง ในภาษาจะมีเสียงจำนวนมากซึ่งเป็นเสียงที่มีความหมาย เช่น เสียงสระ เสียงพยัญชนะ นำเสียงเหล่านี้มารวมกันเข้าอย่างมีระบบระเบียบ จะทำให้เกิดเป็นหน่วยที่มีความหมาย เรียกว่า คำ หรือ คำศัพท์
         2. ความหมายและรูปแบบ
ความหมายและรูปแบบมีความสัมพันธ์กันดังนี้
1. ในแต่ละภาษา ความหมายหนึ่งอาจจะแสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น ในรูปประโยคที่ต่างกันหรือใช้คำที่ต่างกัน
2. รูปเดียวอาจจะมีหลายความหมาย ความหมายของรูปแบบแต่ละรูปแบบนั้นไม่แน่นอนตายตัวเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทเป็นสำคัญ
         3. ประเภทของความหมาย
นักภาษาศาสตร์ได้กำหนดประเภทความหมายไว้ 4 ประเภทด้วยกัน
1.  ความหมายอ้างอิง (referential meaning) หรือความหมายโดยตรง หมายถึง ความหมายที่กล่าวอ้างโดยตรงถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หรือเป็นความคิด มโนภาพ อาจเป็นความหมายทั่วๆไป หรือเป็นความหมายเฉพาะ
2. ความหมายแปล (connotative meaning) หมายถึง ความรู้สึกทางอารมณ์ของผู้อ่าน ผู้ฟัง ซึ่งอาจจะเป็นความหมายในทาง บวก หรือทางลบก็ได้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของภาษาและภูมิหลังของบุคคล
3. ความหมายตามบริบท (contextual meaning) รูปแบบหนึ่งๆของภาษาอาจจะมีความหมายได้หลายความหมาย ต้องพิจารณาจากบริบทที่แวดล้อมคำนั้นทั้งหมด จึงจะรู้ความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ
4. ความหมายเชิงอุปมา (figurative meaning) เป็นความหมายที่เกิดจากการเปรียบเทียบ ทั้งการเปรียบเทียบโดยเปิดเผย และการเปรียบโดยนัย ผู้แปลจะต้องวิเคราะห์การเปรียบเทียบ

การเลือกบทแปล
เลือกบทแปลตามวัตถุประสงค์ของการสอนแปล เพื่อให้ได้ซึ่งความหลากหลายของประเภทงานเขียน โดยคำนึงถึงการทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสตระหนักถึงความบกพร่องต่างๆของตนในการแปล และให้ผู้เรียนได้ความรู้ทางด้านทักษะทางภาษา และเนื้อหาไปด้วย

เรื่องที่จะแปล
เรื่องที่จะเลือกมาแปลมีหลายสาขา จึงควรมีคณะกรรมการแปลระดับชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขาวิชาใหญ่ๆเป็นแกน การแปลหนังสือวิชาการสาขาต่างๆจะเป็นการกำจัดอุปสรรคความรู้ภาษาต่างประเทศไม่ดีพอ การแปลจึงควรเลือกหนังสือที่เป็นหลักวิชาที่ยอมรับกันในสาขาวิชานั้นๆ ผู้แปลแต่ละสาขาจะต้องฝึกฝนภาษาอังกฤษในสาขาวิชาของตนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น